ยินดีต้อนรับสู่ ชุมชนคนรุ่น 4 ศิษย์เก่าวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ "สร้างคนดี มีความรู้ สู่อาชีพ" "เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน"

วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ปาฐกถาพิเศษ

ปาฐกถาพิเศษ
เรื่อง "เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน"
โดย…ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ


หลังจากที่มูลนิธิค่ายเปรมติณสูลานนท์ เชิญให้ไปพูดเรื่องนี้ที่โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2542 แล้ว มูลนิธิฯได้นำปาฐกถาเรื่องนี้ไปเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ เท่าที่สดับตรับฟังปรากฏว่าได้รับความสนใจพอสมควร จึงปรับ "ปาฐกถา" มาเป็น "บทความ" และเพิ่มเติมให้ครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น ความจริงผมได้พยายามพูดถึงข้อความนี้มาเป็นเวลานานนับเป็นสิบปีที่เดียวเพื่อให้แพร่หลายออกไปยังคนไทยให้มากและกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนไทยจักได้สำนึกว่า เราทุกคนมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่เราอาศัยเกิดมา และเติบโตจนเป็นตัวเราขณะนี้ ด้วยความสำนึกที่แน่วแน่ว่า เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องทำ หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่รู้สึกว่าไม่ติดตลาดเท่าที่ควร อาจจะเป็นเพราะทำการเผยแพร่ไม่ดีพอ ไม่กว้างขวางพอ จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจ อาจจะเป็นเพราะเข้าใจยาก ไม่ทราบว่าพูดถึงเรื่องอะไร และอาจจะเป็นเพราะบางท่านคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้เรื่องเลยก็ได้
ขอเริ่มต้นดังนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 4 หน้าที่ของชนชาวไทย บัญญัติหน้าที่ของคนไทยไว้ 5 มาตรา ตั้งแต่ มาตรา 66 - มาตรา 70 ใน 5 มาตรา นั้น ไม่มีมาตราใดบัญญัติให้คนไทยมีหน้าที่ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ฉะนั้นใครก็ตามไม่ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ก็ย่อมไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญแต่ประการใด อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 69 บัญญัติไว้ว่า "บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รับราชการทหาร เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ รับการศึกษาอบรม พิทักษ์ ปกป้อง และสืบสานศิลปะวัฒนธรรมของชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น และอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ"
แม้ว่ามิได้บัญญัติ เรื่องการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญ แต่ผมใคร่ขอให้เราท่านทั้งหลายโปรดไตร่ตรองดูว่า การตอบแทนบุญคุณต่อผู้หรือสิ่งที่มีบุญคุณต่อเรา เช่น พ่อแม่ ครู สถาบัน และองค์กรต่างๆ ฯลฯ เป็นวัฒนธรรมไทยที่เราพิทักษ์และสืบสานกันมาตั้งแต่สมัย ปู่ ยา ตา ยาย จนถึงปัจจุบัน และมีปรากฏอยู่ในส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ มาตรา 69 นับได้ว่าสำคัญมากทีเดียว สำหรับตัวผมเองนั้นยึดมั่นอยู่เสมอและตลอดไปว่า การตอบแทนบุญคุณแผ่นดินนั้นสำคัญและยิ่งใหญ่กว่ามากนัก ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้ หลายท่านได้ทำสิ่งต่างๆให้แก่ชาติบ้านเมือง โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ท่านได้ทำไปนั้นเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่น่าภูมิใจและน่าจดจำอย่างยิ่ง
ขอเชิญพวกเรามาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า การตอบแทนบุญคุณแผ่นดินนั้น คือ การทำอย่างไร ผมขอนิยามว่า "การตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน คือ การประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดี เป็นสถาบันที่ดี เป็นองค์กรที่ดี เป็นตัวอย่างที่ดี มุ่งกระทำแต่ความดีเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน" และถ้าคำนิยามนี้เป็นที่ยอมรับ ก็จะเห็นได้ว่า คนไม่ว่า เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย ทุกสาขาอาชีพ องค์กร ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเองหรือองค์กรของรัฐ ของภาคเอกชน และสถาบันของรัฐของภาคเอกชน ย่อมรวมอยู่ในคำนิยายนี้ทั้งสิ้น ฉะนั้น การตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน จึงมีความหมายกว้างขวาง ลึกซึ้งยิ่งใหญ่ ไพศาล และครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่คน และ/หรือสถาบันองค์กรได้กระทำ และยังประโยชน์ต่อแผ่นดินหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง ทำให้ชาติบ้านเมืองของเรามีความเจริญ มีความก้าวหน้า มีความสงบสุข คนในชาติมีความรัก สามัคคี มีสุขภาพแข็งแรง มีการศึกษาที่ดีพอที่จะประกอบอาชีพได้ มีความยั่งยืน และมีคนไม่ดีน้อยมาก
จะเห็นได้ว่า ถ้าคนส่วนใหญ่ในชาติบ้านเมืองของเรา เข้าใจการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินและปฏิบัติตามที่เข้าใจ ชาติบ้านเมืองของเราก็จะมีคนดีมาก คนไม่ดีน้อย ชาติบ้านเมืองก็จะมีความปรกติสุขเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราชได้พระราชทานพระบรมราโชวาท เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2512 ในพิธีเปิดงานชุมนุนมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีความตอนหนึ่งว่า "ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้" โปรดสังเกตว่าได้พระราชทานไว้เมื่อ 30 ปีมาแล้ว คนไม่ดีก็ยังมีให้เห็นอยู่เป็นจำนวนมาก บางคนบางพวกประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงอย่างยิ่ง เช่น ผลิตและขายยาเสพย์ติด เป็นต้น พวกเราบางคนอาจจะไม่เข้าใจถึงอันตรายใหญ่หลวงของยาเสพย์ติด ธุรกิจยาเสพย์ติด เป็นอันตรายที่สุดต่อชาติบ้านเมืองของเรา ไม่ใช่เพียงแต่ "ผู้เสพตาย ผู้ขายติดคุก" ถ้าพวกเราไม่สนใจเรื่องยาเสพย์ติดไม่เข้าใจลึกซึ้งถึงภยันตรายจากยาเสพย์ติดปล่อยปละละเลยไม่ร่วมมือกันทำความเข้าใจกับคนในชาติ ไม่ร่วมมือกันให้ความรู้ ไม่ช่วยกันปกป้องและปราบปรามอย่างจริงจัง ชาติของเราอาจจะล่มสลายได้มันผู้ใดก็ตามที่ผลิต ค้า ขนส่ง เสพ หรือ ช่วยเหลือ ร่วมมือกับธุรกิจยาเสพย์ติด ต้องเรียกว่าเป็น "ผู้ทรยศต่อชาติ" ฉะนั้นขอให้เราท่านทั้งหลายจง พร้อมใจกันสนองพระราชกระแส เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดินโดยพร้อมเพรียงกัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า การทำดี ทำไม่ดีในสังคมไทย มีผลหรือให้ผลแตกต่างกันไปค่อนข้างจะไม่เหมือนใคร สังคมของเรามักจะยกย่อง เคารพนับถือ คนมีเงิน คนมีอำนาจโดยไม่สนใจ ว่ามีภูมิหลังอย่างไร ร่ำรวยมาโดยวิธีใด ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเครือญาติอย่างไร ประกอบอาชีพสุจริต หรือผิดกฎหมาย เสียภาษีถูกต้องหรือหลบเลี่ยงเป็นเจ้าพ่อ เจ้าแม่ หรือไม่ ส่วนคนธรรมดาๆ ไม่มีอำนาจ มีเงินไม่มาก หรือเป็นคนจน เป็นคนบ้านนอก จะประพฤติปฏิบัติตนดีอย่างไร ทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากแค่ไหน สังคมไม่เอ่ยถึงไม่ยกย่อง ไม่กราบไหว้ หากสังคมเรายึดถืออย่างนี้สังคมของเราจะบิดเบี้ยวการบังคับใช้กฎหมายก็จะหย่อนยานและจะมีผลกระทบให้ระเบียบของสังคมเพี้ยนแปรไป จึงใคร่ขอเชิญชวนให้พวกเราทั้งหลายช่วยกันคิดว่า เราควรจะตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยการยกย่องคนดี แทนการยกย่องคนมีเงิน มีอำนาจแต่ไม่ดีกันแล้วหรือยัง เลิกกราบไหว้เลิกคบค้าสมาคมกับคนไม่ดี โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพล ไม่หวั่นต่ออันตรายสังคม ควรจะพร้อมใจกันลงโทษคนจำพวกนี้ และยกย่องส่งเสริมคนดี ให้มีกำลังใจให้เป็นตัวอย่างแก่ลูกหลานของเราต่อไป
มีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ มีคนพูดกันมาก ว่าบ้านเมืองเราอับจนคนเก่ง หมายความว่ามีคนเก่งน้อย บ้านเมืองจึงพัฒนาช้าผมไม่มีข้อโต้แย้งหรือสนับสนุน เพราะผมไม่มีข้อพิสูจน์เมื่อผมได้รับเชิญให้ไปพูดที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2542 ผมพูดว่า การอับจนคนเก่งไม่น่าวิตกเท่ากับการอับจนคนกล้า ผมคิดว่า ปัจจุบันนี้บ้านเมืองของเราต้องการคนกล้า กล้าที่จะไม่นับถือกล้าที่จะตำหนิคนไม่ดี หน่วยงานที่ไม่ดี ผู้บริหารระดับสูงที่ไม่ดี บางทีสักวันหนึ่ง เราอาจจะมีโชคดี ทำให้เขาเหล่านั้น องค์กรนั้นๆ สำนึกบาป หันมาประกอบคุณงามความดีให้แก่ชาติบ้านเมือง
การทำตนการบริหารองค์กรให้ "ประหยัด เรียบง่าย" ซึ่งตรงกันข้ามกับ "สุรุ่ยสุร่าย ฟุ้งเฟ้อ ยุ่งยาก" ก็เป็นส่วนสำคัญให้เกิดความสำนึกที่ดีในการปฏิบัติตน การบริหารองค์กร และจะยังประโยชน์ต่อตนเองและต่อองค์กรนั้นๆ มาก การดำรงชีวิตโดยประหยัด เรียบง่าย เป็นแนวทางดำเนินชีวิตที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ และเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับคนไทย เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะนำมาใช้กับประเทศของรา เราเรียกประเทศของเราว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ถ้ามองกันอย่างจริงจังเราควรจะยอมรับว่า เรากำลังพัฒนาทางวัตถุมากว่าการพัฒนาการดำรงชีวิตแบบไทย เพราะฉะนั้นเรามาพร้อมใจกันตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาประเทศของเราให้พร้อมกันทั้งสองอย่างกันเถิด
พวกเราทั้งหลาย อาจจะพอนึกและพอจะจำได้ว่า ผมให้ความสนใจชนบทมาก เพราะคนในชนบทเป็นคนยากจน มีความเป็นอยู่ต่ำกว่าความจำเป็นพื้นฐานเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะการศึกษา การอาชีพและสุขภาพอนามัย ปัญหาความยากจนจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ยากที่สุด และจำเป็นเร่งด่วนที่สุด ผมเชื่อมั่นเสมอว่า ถ้าเราแก้ปัญหาความยากจนได้ เราจะแก้ปัญหาอื่นได้ทั้งหมด ผมได้พยายามอย่างเต็มความสามารถทุกวิถีทาง เพื่อแก้ปัญหานี้ ตั้งแต่เป็นแม่ทัพอยู่ที่ภาคอีกสาน จนกระทั่งเป็นนายกรับมนตรี บางท่านอาจจะยังคงจำได้ว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2531 หลังจากที่ผมปฏิเสธตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมได้ปราศรัยกับพี่น้องประชาชน มีข้อความตอนหนึ่งว่า "สิ่งหนึ่งที่ผมยังทำไม่สำเร็จ คือ การแก้ปัญหาความยากจน และขอร้องให้รัฐบาลช่วยทำต่อไป" การแก้ปัญหาสำคัญยิ่งของชาติ คือ ความยากจนนี้ ต้องอาศัยผู้ที่รู้ลึกซึ้ง มุ่งมั่นเต็มที่ ในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ผมเรียนพวกเราว่า ผมทำไม่สำเร็จ แต่ไม่ได้หมายความว่ายอมแพ้ ถึงแม้ว่าผมไม่ได้อยู่ในฐานะที่มีความรับผิดชอบโดยตรงเหมือนขณะที่ผมอยู่ในทำเนียบ แต่โดยที่ผมเป็นคนไทยและความห่วงใยต่อชีวิตของคนในชนบทของผมมิได้ลดลงเลย ผมจึงยังคงทำทุกอย่างเท่าที่ผมสามารถทำได้อยู่เสมอตลอดเวลา ทั้งๆที่มีข้อจำกัดหลายอย่าง เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน นี้และให้สัญญาว่าจะกระทำต่อไปไม่มีวันยอมแพ้
พวกเราทั้งหลายเคยได้ยินและได้เห็นด้วยตาตนเอง โครงการ "ป่ารักษ์น้ำ" ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถได้ทรงทำเพื่อรักษาป่าต้นน้ำลำธาร ควบคู่กันไปกับโครงการ "น้ำ" ต่างๆที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำ ทั้งสองพระองค์ทรงรับสั่งอยู่เสมอถึงความสำคัญของป่าและน้ำ อันมีผลผูกพันไปถึงสภาพสิ่งแวดล้อม ชีวิตสัตว์ป่าและภัยธรรมชาติ เราท่านต่างก็ได้เห็นความยากลำบากที่ประชาชนได้รับความแห้งแล้งของธรรมชาติและความผิดปรกติของฟ้าฝนอันเกิดมาจากการบุกรุกทำลายป่า ไม่พิทักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยตนเองมาแล้วทั้งสิ้นวิธีแก้ไขให้สิ่งไม่ดีเหล่านี้หยุด และได้รับการฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมก็คือให้ทุกคนช่วยกันตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยหยุดการกระทำทุกอย่างที่เป็นการทำลาย และทำร้ายธรรมชาติและสัตว์ป่า เพื่อให้ความสมดุลของธรรมชาติคงดำรงอยู่ และยังประโยชน์ต่อมวลมนุษย์และสัตว์สืบไป
เมื่อผมยังอยู่ในทำเนียบ เวลาผมไปเยี่ยมชาวบ้านตามบ้านนอก เจ้าหน้าที่ของทางราชการก็จะมาดูแลให้ความสะดวก และจะนำสมุดเซ็นเยี่ยมมาให้ผมเขียน ผมจะเขียนข้อความคล้ายๆ กันเสมอ ดังนี้ "ข้าราชการมีหน้าที่ "ให้" ไม่มีหน้าที่ "รับ" จะรับได้อย่างเดียวเท่านั้น คือ รับ "ความทุกข์" ของราษฎรมาพิจารณาช่วยเหลือ" ผมติดตามผลและพบว่า มีผู้ปฏิบัติตามน้อยมากอาจจะเป็นเพราะยากต่อการปฏิบัติ หรือไม่อยากปฏิบัติ หรือทั้งสองอย่าง หรือไม่ค่อยเข้าใจการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ก็เป็นได้
เมื่อผมออกมาจากทำเนียบแล้ว ผมและเพื่อนๆ หลายคนที่มีความคิดเห็นร่วมกัน ได้จัดตั้งมูลนิธิขึ้นมูลนิธิหนึ่ง มูลนิธินี้มีคำขวัญว่า "ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ และจงรักภักดี" เราพร้อมใจกันสร้างคำขวัญนี้ขึ้นมา เพราะพิจารณาเห็นว่า ถ้าคนไทยเข้าใจถ่องแท้ถึงความหมายแห่งคำทั้งสี่นี้แล้ว และนำไปประพฤติปฏิบัติเป็นนิจสินจนเป็นนิสัย เขาจะเป็นคนดี เป็นคนมีประโยชน์ต่อแผ่นดินแน่นอน มูลนิธิฯเน้นที่จะช่วยเหลือ สนับสนุนคนไทยทั้งมวล ไม่ว่าคนมีเงิน คนจน คนกรุง คนชนบท ที่ประพฤติปฏิบัติครบถ้วนตามคำขวัญ เพื่อชาติบ้านเมืองของเราจะได้มีคนดีเพิ่มมากขึ้นทุกที
เราพูดถึงเรื่องการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินมาหลายแง่หลายมุมแล้ว อย่างไรก็ตามเราไม่มีเวลามากพอที่ละลงลึกไปในรายละเอียดว่า ใคร สถาบัน องค์กรใด ความจะทำอะไร อย่างไร เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดินบ้าง จึงใคร่ขอยกเฉพาะส่วนที่สำคัญมาบางส่วน ดังนี้ หวังว่าทุกคนยังคงจำได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยพระราชทานพระบรมราโชวาท เรื่อง รู้รักสามัคคี หมายความว่า ทรงเตือนคนไทยทั้งปวงให้มีความสมานฉันท์ไม่แตกแยก พวกเราทั้งหลายคงเข้าใจถึงประโยชน์แห่งความสามัคคีด้วยกันทุกคน ตราบใดที่เรารู้รักสามัคคี ตราบนั้นชาติบ้านเมืองก็จะสงบสุข การสร้างความสามัคคีในชาติ กระทำได้โดยการยึดถือเอาประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ไม่แบ่งฝ่าย ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนเอง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ของพรรคพวกเหนือกว่าประโยชน์ของส่วนรวม การดำรงความสามัคคีในชาติ จึงเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่มาก ทุกคนพึงร่วมมือกันด้วยความสำนึกโดยตลอดเวลา
ผมคิดว่า พวกเราส่วนมากคงจะเคยได้ยินและสนใจคำภาษาอังกฤษคำหนึ่ง คือ คำว่า GOOD GOVERNANCE มีผู้พยายามแปลคำนี้เป็นภาษาไทยหลายอย่างแตกต่างกันไป แต่ยังไม่เป็นที่นิยมยอมรับกัน ผมขอแปลคำนี้ง่ายๆว่า "การปกครองที่ดี" คำนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ เพราะประชาชนต้องการรัฐบาลที่มีการปกครองที่ดี ไม่จำเป็นจะต้องอธิบายมากว่า การปกครองที่ดีคืออะไร รัฐบาลที่ดีที่ประชาชนต้องการคือย่างไร พอจะกล่าวสั้นๆได้ว่ารัฐบาลที่ดีจะใช้การกครองที่ดี เพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในแผ่นดิน ที่จริงการนำการปกครองที่ดีไปใช้นั้นมิได้จำกัดอยู่เฉพาะรัฐบาลเท่านั้น แต่องค์กรอื่นไม่ว่าเล็ก ใหญ่ย่อมจำเป็นต้องมีการปกครองที่ด้วยกันทั้งสิ้น เพื่อจะได้บริหารองค์การอย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จ
ผู้บริหารระดับสูงของประเทศ ไม่ว่านักการเมือง ข้าราชการประจำทุกฝ่าย พนักงานรัฐวิสาหกิจ ล้วนแต่เป็นกุญแจสำคัญในการบริหาร และพัฒนาชาติบ้านเมือง ท่านเหล่านั้นจำต้องเข้าใจการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ประพฤติปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดียิ่งในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและประชาชน ในทางตรงกันข้าม หากผู้บริหารระดับสูง รู้จักการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินน้อย กระทำในสิ่งที่ไม่ดีอยู่เสมอๆ จะเป็นผลกระทบ
กับการเมือง การเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของชาติที่จะลดน้อยถอยลงตามไปด้วย อันจะนำไปสู่ความไม่เป็นธรรมและการบั่นทอนพลังของชาติในที่สุด ปัจจุบันนี้ก็พอมีตัวอย่างให้เห็นกันอยู่ ผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชน ก็ต้องเข้าใจการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเช่นเดียวกัน การดำเนินธุรกิจจึงจะมีประสิทธิภาพ และประโยชน์ต่อส่วนรวม ผู้บริหารภาคเอกชนควรจะตอบแทนบุญคุณแผ่นดินด้วยการ ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค แข่งขันกันอย่างเสรีและฉันท์มิตร ไม่ติดสินบนข้าราชการ และไม่หวั่นเกรงอิทธิพล กล้าหาญที่จะปฏิเสธคำขอที่จะนำไปสู่การทำลายระบบต่างๆ ของสังคม เศรษฐกิจและการเมือง อนึ่ง ผมใคร่ขอร้องนักธุรกิจที่ร่ำรวย มีฐานะดีมากๆ ได้โปรดเข้าใจ และเห็นใจความลำบากยากแค้นของคนจน ควรจะยอมรับกันว่า คนจนคือผู้บริโภครายใหญ่ คนจน คือส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุด จึงกล่าวได้ว่า ยิ่งทำให้คนจนหายจนมากเท่าใด นักธุรกิจก็จะได้รับประโยชน์มากเท่านั้น ฉะนั้น การดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรมจึงเป็นสิ่งที่ทั้งผู้ผลิตและ ผู้บริโภคได้รับความเสมอภาคทั่วกัน
การส่งเสริมสนับสนุนคนไทยด้วยกัน เช่น การซื้อ การใช้สินค้าที่ผลิต (แม้แต่บางส่วน) โดยคนไทย และการท่องเที่ยวในเมืองไทย การซื้อและการใช้ของไทยเป็นการเผยแพร่เกียรติและชื่อเสียงของชาติบ้านเมืองของเรา ยังประโยชน์ต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ช่วยทำให้เศรษฐกิจมั่นคงแข็งแรง การท่องเที่ยวในเมืองไทยจะทำให้มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย เข้าใจและรักประเทศของเรา และช่วยเศรษฐกิจเช่นกัน เป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่พึงกระทำอย่างยิ่ง
คนไม่ดี ประกอบอาชีพไม่สุจริต ทำธุรกิจผิดกฎหมายใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตน ถ้าเขาสำนึกได้ และเลิกเสีย แล้วหันมาประกอบอาชีพสุจริต จะเป็นการตอบแทนบุญคุณที่น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง
การดำรง พิทักษ์ และสืบสานวัฒนธรรมของชาติของท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน นับเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่ ที่จริงในรัฐธรรมนูญที่ผมอ้างถึง ได้บัญญัติให้ เรื่องเหล่านี้เป็นหน้าที่ของคนไทย แต่ผมมีความเห็นว่าการกระทำด้วยความสำนึกเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน จะทำให้เรามีความภูมิใจในการเกิดมาเป็นคนไทยมากกว่ามาก
คำว่าบุญคุณ เป็นภาษาไทย ผมเข้าใจว่าแปลเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะฝรั่งเขาถือว่าการทำอะไรให้กันและกัน ไม่ถือเป็นบุญคุณ อย่างไรก็ตามขอยกตัวอย่างที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เมื่อ JOHN F. KENEDY ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ เขาได้กล่าวปราศรัยต่อประชาชนอเมริกันว่า "ASK NOT WHAT YOUR COUNTRY CAN DO FOR YOU,ASK WHAT YOU CAN DO FOR YOUR COUNTRY" แปลเป็นไทยว่า "อย่าถามว่าประเทศจะทำอะไรให้แก่ท่าน จงถามว่าท่านจะทำอะไรให้แก่ประเทศได้บ้าง" เป็นสุนทรพจน์ที่ไพเราะจับใจ สั้นแต่มีความหมายลึกซึ้งกว้างไกล ทำให้ผมรู้สึกว่าคนอเมริกันเขาเข้าใจและรู้จักตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเหมือนกัน มีประโยชน์ภาษาอังกฤษอีกประโยคหนึ่ง ผมขอยกมาให้ฟังเพื่อประเทืองปัญญา โดยมิได้มีเจตนาจะตำหนิ เขาพูดว่า "A SSTATESMAN THINKS HE BELONGS TO THE NATION, BUT A POLITICIAN THINKS THE NATION BELONGS TO HIM" ประโยคนี้ ขอเว้นไม่แปล ผมมั่นใจว่าคนไทยทุกคนเข้าใจคำว่า บุญคุณ และประสงค์จะตอบแทนบุญคุณ
แผ่นดินด้วยกันทุกคน แต่ทำในระดับต่างกัน ขนาดต่างกันด้วยความแน่วแน่ต่างกัน ฉะนั้น บางคนก็เป็นคนดีมาก บางคน ก็เป็นคนดีน้อย บางคนก็เป็นคนไม่ดี เรื่องของการทำความดีเพื่อตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน มีคำที่พวกเราทั้งหลาย น่าจะให้ความสนใจอยู่ 2 คำ "แรงจูงใจ กับ แรงบันดาลใจ" อธิบายสั้นๆ ได้ดังนี้ แรงจูงใจ คือ การให้สิ่งล่อใจเพื่อให้เกิดสนใจที่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การลดหรืองดภาษีอากรนำเข้า ส่งออกของผลิตภัณฑ์ เช่น ที่ขณะนี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนปฏิบัติอยู่เพื่อจูงใจให้คนมาลงทุน เป็นต้น แต่แรงบันดาลใจ คือ สิ่งซึ่งเกิดขึ้นเองในใจของเรา ด้วยความสำนึกของตนเอง หรือเห็นการปฏิบัติที่เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้อื่นแล้วเกิดความประทับใจ เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำตามโดยไม่ต้องมีสิ่งล่อใจ สิ่งจูงใจ ถ้าพวกเราท่านใด ยังไม่มีแรงบันดาลใจ หรือมีแต่น้อย ผมขอเชิญชวน ให้ดูตัวอย่างจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ทรงเสียสละความสุขส่วนพระองค์ ทรงคิด ทรงแนะนำ ทรงทำทุกอย่างเพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ และยกระดับความอยู่ดีกินดีของราษฎร เป็นเวลาต่อเนื่องกันนานกว่า 50 ปีมาแล้ว โดยไม่เคยทรงบ่นว่าเหน็ดเหนื่อย ลำบาก ข้อความ "เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน" ผมคิดขึ้นได้ ก็เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์ ผมจึงไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ไม่รู้สึกว่ายากลำบาก ในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินแม้แต่น้อย จึงขอเชิญชวนให้พวกเราได้ช่วยกันทำประพฤติปฏิบัติเป็นตัวอย่างอย่างเต็มกำลังและสม่ำเสมอ ผมขอตั้งความหวังไว้ว่าคนไทยจะเข้าใจ สนใจ และทำตามเพื่อชาติบ้านเมืองของเรา ชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครก็ตาม แม้เพียงจะคิดจะยึดถือเป็นของตนเอง หรือ ของพรรพวกของตน เพื่อประโยชน์อันไม่ชอบธรรมต่อตนเองหรือต่อพรรคพวกของตนเอง จะพบกับความหายนะในที่สุด ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ดี ต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตนต้องรู้จักการปิดทองหลังพระ ต้องรู้ว่า ประโยชน์ของชาติบ้านเมือง คือสิ่งที่คนในชาติต้องการ ต้องรู้จักการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน พระสยามเทวาธิราชจะปกป้องคุ้มครองคนดีของชาติบ้านเมืองเสมอ และสาปแช่งคนไม่ดีให้มีอันตกทุกข์ได้ยากแสนสาหัสตลอดชีวิต
บทความทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่า ขอให้คนไทยทุกคนตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยการประพฤติตนเป็นคนดีเป็นตัวอย่างที่ดี มุ่งกระทำแต่ความดี เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน หวังว่าพวกเราทุกคน คนไทยทุกคน จะพร้อมเพรียงกันตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน

ที่มา : จากหนังสือมูลนิธิส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แลกเปลี่ยนความคิดเห็น